พระนางวัชทีถูกปลด

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยของกษัตริย์เซอร์ซีส[a]ผู้ทรงปกครอง 127 มณฑลจากอินเดียถึงคูช[b] ครั้งนั้นกษัตริย์เซอร์ซีสทรงครองราชบัลลังก์ในป้อมเมืองสุสา และในปีที่สามแห่งรัชกาลของพระองค์ พระองค์ทรงจัดงานเลี้ยงใหญ่ประทานแก่เหล่าขุนนางและข้าราชบริพาร บรรดาแม่ทัพนายกองแห่งมีเดียและเปอร์เซีย เจ้านายและขุนนางจากทุกมณฑลล้วนมาเข้าเฝ้า

กษัตริย์ทรงแสดงความมั่งคั่งของราชอาณาจักร พระเกียรติ บารมี และความโอ่อ่าตระการตลอด 180 วัน หลังจากนั้นกษัตริย์ทรงจัดงานเลี้ยงเจ็ดวันที่ลานอุทยานของพระราชวังสำหรับทุกคนที่อยู่ในป้อมเมืองสุสา ตั้งแต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดลงมาถึงผู้น้อยที่สุด ในอุทยานมีม่านลินินสีขาวและสีน้ำเงินร้อยด้วยเชือกลินินสีขาวและสีม่วงเข้ากับห่วงเงินบนเสาหินอ่อน มีตั่งทองคำและเงินตั้งอยู่ตามบาทวิถีซึ่งฝังหินแดง หินอ่อน หอยมุก และพลอยราคาแพงอื่นๆ เหล้าองุ่นที่นำออกมาแจกจ่ายบรรจุในภาชนะทองคำ แต่ละใบมีรูปทรงและลวดลายไม่ซ้ำกัน กษัตริย์ทรงประทานเหล้าองุ่นหลวงให้ดื่มอย่างเหลือเฟือ แขกแต่ละคนดื่มได้ตามใจชอบ เพราะพระองค์ทรงบัญชาพนักงานฝ่ายเหล้าองุ่นให้นำมาบริการตามความพอใจของทุกคน

พระราชินีวัชทีก็ทรงจัดงานเลี้ยงสำหรับเหล่าสตรีในราชสำนักของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย

10 ในวันที่เจ็ดเมื่อกษัตริย์เซอร์ซีสสำราญพระทัยด้วยเหล้าองุ่นก็ตรัสเรียกขันทีประจำพระองค์ทั้งเจ็ดคือ เมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และคารคัส 11 ให้ไปทูลเชิญพระนางวัชทีสวมมงกุฎมาเข้าเฝ้าพระองค์ เพื่อให้ประชาชนและเหล่าขุนนางได้ยลโฉมเพราะพระนางทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก 12 แต่เมื่อคนเหล่านี้ไปทูลเชิญตามพระบัญชาของกษัตริย์ พระนางไม่ยอมมา กษัตริย์จึงทรงพระพิโรธยิ่งนัก

13 เนื่องจากเป็นประเพณีที่กษัตริย์จะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระองค์จึงตรัสกับเหล่านักปราชญ์ผู้เข้าใจยุคสมัย 14 ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ที่สุดได้แก่ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน ขุนนางทั้งเจ็ดแห่งมีเดียและเปอร์เซีย ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิพิเศษในการเข้าเฝ้ากษัตริย์และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร

15 พระองค์ตรัสถามว่า “กฎหมายระบุให้ทำอย่างไรบ้างกับพระนางวัชทีซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์เซอร์ซีสตามที่ให้ขันทีไปเชิญ?”

16 แล้วเมมูคานทูลตอบต่อหน้ากษัตริย์และต่อหน้าเหล่าขุนนางว่า “พระนางวัชทีไม่ได้ทรงทำผิดต่อองค์กษัตริย์เท่านั้น แต่ต่อขุนนางและประชาราษฎร์ทั้งปวงในทุกมณฑลของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย 17 เพราะหญิงทั้งปวงจะรู้ถึงการกระทำของพระนาง และจะพากันดูแคลนสามี และพูดกันว่า ‘กษัตริย์เซอร์ซีสทรงบัญชาให้พระราชินีวัชทีไปเข้าเฝ้า แต่พระนางไม่ยอมไป’ 18 ในวันนี้บรรดาหญิงสูงศักดิ์แห่งมีเดียและเปอร์เซียซึ่งได้ยินการกระทำของพระนางวัชที ก็จะปฏิบัติต่อขุนนางของกษัตริย์ในทำนองเดียวกัน จะทำให้ขาดความเคารพและเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด

19 “ฉะนั้นหากฝ่าพระบาททรงดำริชอบ ขอให้ร่างพระราชโองการเป็นกฎหมายของชาวมีเดียและเปอร์เซียซึ่งจะล้มเลิกไม่ได้ ห้ามพระนางวัชทีเข้าเฝ้าฝ่าพระบาทอีก ทั้งให้ฝ่าพระบาทประทานตำแหน่งพระราชินีแก่คนอื่นซึ่งดีกว่าพระนาง 20 เมื่อประกาศพระราชโองการนี้ทั่วราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของฝ่าพระบาทแล้ว หญิงทั้งปวงจะเคารพสามี ตั้งแต่ผู้น้อยที่สุดไปจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด”

21 กษัตริย์และขุนนางทั้งปวงเห็นชอบในคำทูลนี้ ฉะนั้นกษัตริย์ทรงทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ 22 และมีพระราชสาส์นออกไปยังทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักร เป็นภาษาถิ่นครบทุกภาษา ประกาศว่าผู้ชายทุกคนเป็นผู้ปกครองเหนือครัวเรือนของตน

Footnotes

  1. 1:1 ภาษาฮีบรูว่าอาหะสุเอรัสเป็นอีกรูปหนึ่งของเซอร์ซีส ซึ่งเป็นชื่อเปอร์เซีย ทั้งในข้อนี้และตลอดพระธรรมเอสเธอร์
  2. 1:1 คือ ตอนบนของลุ่มแม่น้ำไนล์

งานเลี้ยงของกษัตริย์

ในสมัยของอาหสุเอรัส[a] คืออาหสุเอรัสผู้ที่ปกครอง 127 แคว้น ตั้งแต่อินเดียถึงคูช ในสมัยนั้น เมื่อกษัตริย์อาหสุเอรัสครองราชบัลลังก์ในสุสาเมืองป้อมปราการ ในปีที่สามหลังจากที่ได้ขึ้นครองราชย์ ท่านจัดงานเลี้ยงให้แก่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการทั้งสิ้นของท่าน กองทัพของเปอร์เซียและมีเดีย บรรดาผู้สูงศักดิ์และผู้ว่าราชการประจำแคว้นต่างก็มาพร้อมหน้ากัน ตลอดเวลา 180 วัน ท่านแสดงความมั่งมีแห่งราชอาณาจักร ความรุ่งเรืองของความยิ่งใหญ่ของท่าน เมื่อเสร็จสิ้น กษัตริย์ก็โปรดให้มีงานเลี้ยงในสุสาเมืองป้อมปราการ แก่ประชาชนทั้งปวงทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย งานนี้ใช้เวลานานถึง 7 วัน ณ ลานสวนแห่งราชวัง ในสวนมีม่านผ้าฝ้ายสีขาวและสีฟ้า ผูกด้วยเชือกป่านเนื้อดีสีม่วงคล้องกับห่วงเงินและเสาหินอ่อน มีเตียงทองคำและเงินตั้งอยู่บนพื้นหินโมเสคสีแดงม่วง หินอ่อน เปลือกมุก และเพชรพลอย เครื่องดื่มรินใส่ถ้วยทองคำ ถ้วยหลากชนิด และมีเหล้าองุ่นของกษัตริย์ให้ดื่มโดยไม่จำกัด เพราะกษัตริย์ใจกว้าง การดื่มเป็นไปตามคำสั่งที่ว่า “ไม่มีการบังคับใดๆ” เพราะกษัตริย์ได้ออกคำสั่งแก่พนักงานทุกคนในวังของท่านว่า แต่ละคนทำตามความพอใจของตน ส่วนราชินีวัชทีก็จัดงานเลี้ยงสำหรับผู้หญิงในวังของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย

ราชินีวัชทีปฏิเสธคำบัญชา

10 ในวันที่เจ็ด เมื่อใจของกษัตริย์หรรษาด้วยเหล้าองุ่น ท่านสั่งเมหุมาน บิสธา ฮาร์โบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และคาร์คาส ผู้เป็นขันทีทั้งเจ็ดที่รับใช้กษัตริย์อาหสุเอรัส 11 ให้พาราชินีวัชทีมาเข้าเฝ้ากษัตริย์ พร้อมกับสวมมงกุฎของเธอด้วย เพื่อให้ประชาชนและบรรดาเจ้าขุนมูลนายได้ชมความงามของเธอ เพราะเธอรูปงามยิ่งนัก 12 แต่ราชินีวัชทีปฏิเสธคำบัญชาของกษัตริย์ที่รับสั่งไปกับขันที กษัตริย์จึงกริ้วยิ่งนักและความโกรธก็เร่าร้อนอยู่ในใจ

13 กษัตริย์จึงกล่าวกับผู้เรืองปัญญาว่าควรจะทำอย่างไร (เพราะเป็นวิธีการของกษัตริย์ที่จะปรึกษาผู้ชำนาญกฎมนเทียรบาลและการตัดสินความ 14 และเป็นคนสนิทของกษัตริย์ด้วยคือ คาร์เช-นา เชธาร์ อัดมาธา ทาร์ชิช เมเรส มาร์เส-นา และเมมูคาน ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งเปอร์เซียและมีเดีย เข้าถึงตัวกษัตริย์ได้เสมอและมีตำแหน่งสูงในอาณาจักร) 15 กษัตริย์ถามว่า “จะต้องทำอย่างไรต่อราชินีวัชทีตามกฎหมาย ในเมื่อเธอไม่ปฏิบัติตามคำบัญชาของกษัตริย์อาหสุเอรัสที่รับสั่งไปกับขันที” 16 เมมูคานจึงกล่าวต่อหน้ากษัตริย์และบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ว่า “ราชินีวัชทีไม่เพียงกระทำผิดต่อกษัตริย์เท่านั้น แต่ผิดต่อบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และประชาชนทั้งปวงในทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย 17 เพราะการกระทำของราชินีจะเป็นที่ทราบกันในบรรดาผู้หญิงทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเขาดูหมิ่นสามีของตนเอง และจะพูดกันได้ว่า ‘กษัตริย์อาหสุเอรัสบัญชาราชินีวัชทีให้มาเข้าเฝ้า แต่พระนางก็ไม่มา’ 18 ในวันนี้ บรรดาผู้หญิงที่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งเปอร์เซียและมีเดีย ที่ทราบถึงการกระทำของราชินี ก็จะพูดเหมือนกันแก่บรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของกษัตริย์ จะเกิดการดูหมิ่นดูแคลนและความโกรธเกรี้ยวมากมาย 19 ถ้าหากว่าจะเป็นที่พอใจของกษัตริย์ ขอให้มีคำสั่งของราชสำนักซึ่งเขียนระบุในกฎของชาวเปอร์เซียและชาวมีเดียว่า นางวัชทีไม่มีสิทธิ์เข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัส และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ และขอให้กษัตริย์มอบราชตำแหน่งแก่ผู้อื่นที่เหมาะสมกว่าเธอ 20 ดังนั้นเมื่อมีการประกาศกฤษฎีกาของกษัตริย์ทั่วอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ผู้หญิงทั้งปวงก็จะยกย่องสามีของตน ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย” 21 คำแนะนำนี้เป็นที่พอใจของกษัตริย์และบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ กษัตริย์จึงกระทำตามดังที่เมมูคานเสนอ 22 ท่านส่งสาสน์ไปยังแคว้นต่างๆ ของกษัตริย์ ถึงแต่ละแคว้นเป็นลายลักษณ์อักษรต้นฉบับแก่ชนทุกชาติในภาษาของเขาเอง คือให้ชายทุกคนเป็นเจ้านายในครัวเรือนของตน

Footnotes

  1. 1:1 เป็นชื่อในภาษาฮีบรู ท่านมีชื่อในภาษากรีกคือ เซอร์ซิส ซึ่งปกครองอาณาจักรเปอร์เซียระหว่าง 486-465 ปีก่อน ค.ศ.